มูลนิธิดรุณาทร (คอมแพสชั่น ประเทศไทย) องค์กรไม่แสวงผลกำไร ให้การพัฒนาเด็กและเยาวชนแบบองค์รวม ส่งเสริมเยาวชนอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ในแคมเปญ Youth and Creation Care จัดค่ายเสวนาเชิงปฏิบัติการ หัวข้อ “ความมั่นคงทางอาหารและน้ำ และวิกฤตสิ่งแวดล้อม” เมื่อวันที่ 12-13 สิงหาคม 2566 ณ ECHO ASIA FARM & SEED BANK อ.สันทราย จ.เชียงใหม่ มีเยาวชนเข้าร่วม 85 คน จากเชียงใหม่ เชียงราย ตาก แม่ฮ่องสอน และบุรีรัมย์ ครั้งนี้เป็นกิจกรรมต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมาที่ได้สร้างความตระหนักและปลูกฝังจิตสำนึกรักผืนป่าดินน้ำแก่เยาวชนจากค่าย “วันเดียวเที่ยวป่า” และค่าย “เยาวชนดรุณาทรนักสื่อความหมายธรรมชาติ”
ค่าย “ความมั่นคงทางอาหารและน้ำ และวิกฤตสิ่งแวดล้อม” ในปีนี้ เยาวชนได้รับทราบข้อมูลสถานการณ์สิ่งแวดล้อมโลกและเอลนีโญ ลานีญา ได้เรียนรู้ความสำคัญและความจำเป็นในการสร้างความมั่นคงทางอาหารและน้ำ และการจัดการขยะอย่างยั่งยืนผ่านการเสวนาพูดคุยและกระบวนการกลุ่ม โดยวิทยากร ดร.ตฤณธวัช ธุระวร ประธานศูนย์เรียนรู้ศาสตร์พอเพียงเจ็ดกระบุงโมเดล และนักวิชาการอิสระ (วิจัยและพัฒนา) และอ.บุญศักดิ์ ทองดี นักพัฒนากสิกรรมธรรมชาติและผู้ร่วมก่อตั้งบ้านในสวน ร่วมด้วยการบรรยายจากกลุ่มเยาวชน (จอย, นิด, อาย, ลัก) จากคริสตจักรแบ๊พติสลาหู่บ้านปางมะหัน จ.เชียงราย และครูศรพิชัย พันธ์ปัญญากรกุล จากคริสตจักรบ้านห้วยกระทิง จ.ตาก ร่วมแบ่งปันประสบการณ์การขับเคลื่อนงานด้านสิ่งแวดล้อมในพื้นที่
พิธีเปิดค่ายเริ่มต้นโดย ทีมเจ้าหน้าที่มูลนิธิดรุณาทรและเยาวชนได้ร่วมในพิธีถวายพระพรชัยมงคล สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 12 สิงหาคม 2566 โดยนายเทมส์ ภู่ไพศาล ผู้จัดการอาวุโสฝ่ายสนับสนุนสายงานบริการธุรกิจ มูลนิธิดรุณาทร ได้นำกล่าวถวายพระพร กล่าวต้อนรับลูกค่ายโดย นางอัมพิกา เยาว์ธานี ผู้จัดการอาวุโสฝ่ายสนับสนุนโครงการ มูลนิธิดรุณาทร และกล่าวให้โอวาทโดย ดร.บุญส่ง ธารศรีทอง ประธานคณะผู้บริหารมูลนิธิเอคโค่ เอเชีย ประเทศไทย
หลังจากนั้นจึงเข้าสู่ช่วงการเสวนาโดยน้อง ๆ เยาวชนได้นำเสนอสถานการณ์ปัญหาสิ่งแวดล้อมในชุมชนของตนเอง ในประเด็น ดิน น้ำ ป่า อากาศ สัตว์ พืช อาหารและนำเสนอแนวทางแก้ไข จากนั้นได้เดินศึกษาตามจุดสาธิตต่าง ๆ ในฟาร์มเอคโค่ ซึ่งแบ่งฐานการเรียนรู้ออกเป็น 8 ฐานสาธิต ที่ครอบคลุมประเด็นสำคัญ 4 ประเด็นได้แก่ การจัดการขยะ, การอนุรักษ์บำรุงดิน, การปรับปรุงคุณภาพน้ำ และความมั่นคงทางอาหาร โดยในช่วงการเดินศึกษานี้ ได้แบ่งน้องเยาวชนเป็น 8 กลุ่ม แต่ละกลุ่มจะได้รับแผนที่ฟาร์ม และได้รับภารกิจให้ปฏิบัติตามกิจกรรมแต่ละฐาน
เนื้อหาใน 8 ฐานสาธิต ได้แก่เรื่องการจัดการขยะ เน้นขยะเปียกและวัสดุเหลือใช้ในฟาร์ม ประกอบด้วย การเลี้ยงหนอนแมลงวันลายและการผลิตถ่านไบโอชาร์, เรื่องการอนุรักษ์บำรุงดิน ได้เรียนรู้การทำปุ๋ยหมักและการปลูกพืชคลุมดิน, เรื่องการปรับปรุงคุณภาพน้ำ ได้เรียนรู้ระบบกรองน้ำชีวภาพและการปลูกหญ้าแฝก, เรื่องความมั่นคงทางอาหาร ได้เรียนรู้การเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์และพืชผักพื้นบ้าน หลังจากเสร็จสิ้นกิจกรรมทั้ง 8 ฐานแล้ว น้อง ๆ กลับมารวมกลุ่มใหญ่เพื่อทำกิจกรรมแลกเปลี่ยนเมล็ดพันธุ์ ซึ่งเป็นเมล็ดพันธุ์ดั้งเดิมที่ต่างนำมาจากชุมชนของตนเอง และอีกส่วนหนึ่งได้รับสมทบจากธนาคารเมล็ดพันธุ์เอคโค่ฟาร์ม เป็นกิจกรรมที่สนุกสนานและทุกคนได้รับเมล็ดพันธุ์ไปเพาะปลูกที่บ้านของตนเอง
นอกจากนี้ น้อง ๆ เยาวชนยังได้รับข้อมูลแนะแนวการศึกษาและงานอาชีพในด้านที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมจากคณาจารย์และนักศึกษามหาวิทยาลัยแม่โจ้ 3 คณะได้แก่ คณะวิทยาศาสตร์ โดย ผศ.ดร.สายัณห์ อุ่นนันกาศ รองคณบดีฝ่ายกิจการนักศึกษากิจการพิเศษและวิเทศสัมพันธ์, คณะสัตวศาสตร์และเทคโนโลยี โดย ผศ.ไพโรจน์ ศิลมั่น ประธานหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาสัตวศาสตร์ และ ผศ.ดร.จุฬากร ปานะถึก รองคณบดีฝ่ายวิชาการ และคณะเทคโนโลยีการประมงและทรัพยากรทางน้ำ โดย ผศ.ดร.จอมสุดา ดวงวงษา รองคณบดีฝ่ายนักศึกษาและกิจการพิเศษ
วันสุดท้ายของค่าย เยาวชนแต่ละพื้นที่ได้ร่วมกันระดมความคิดเห็นเลือกประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมที่ต้องการลงมือทำ โดยกำหนดเป้าหมาย และระบุสิ่งที่จะทำเริ่มจาก “ตัวเอง” ไปสู่ “คริสตจักร” ไปสู่ “ชุมชน/หมู่บ้าน”
ดร.ตฤณธวัช ธุระวร วิทยากร –ประธานศูนย์เรียนรู้ศาสตร์พอเพียงเจ็ดกระบุงโมเดล และนักวิชาการอิสระ (วิจัยและพัฒนา) กล่าวถึงสิ่งที่เด็กและเยาวชนจะทำได้ง่ายที่สุดเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมว่า
“สิ่งที่เด็กและเยาวชนจะทำได้ง่ายที่สุดเพื่อเป็นการรักษาสิ่งแวดล้อม ก็เริ่มตั้งแต่ตัวของเด็กเอง ในเรื่องของการฝึกวินัยประจำวัน แยกขยะในครัวเรือน และเรียนรู้วิถีธรรมชาติ การเพาะปลูกแบบธรรมชาติที่ไม่ใช้สารเคมี และมาทดลองทำในครอบครัวของตัวเอง เป็นสวนครัวหลังบ้าน เพื่อจะลดรายจ่าย ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นกิจกรรมเล็กๆ ที่เด็กสามารถทำได้อย่างเป็นรูปธรรมที่เชื่อมโยงไปสู่การรักษาสิ่งแวดล้อมได้นะครับ”
ดร.บุญส่ง ธารศรีทอง ประธานคณะผู้บริหารมูลนิธิเอคโค่ เอเชีย ประเทศไทย กล่าวถึงค่ายนี้ว่า
“ค่ายนี้เป็นค่ายเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมที่น่าสนใจสำหรับเยาวชนที่จะเอาไปปรับใช้ได้ อยากจะเชิญชวนน้อง ๆ เยาวชนทุกคนเริ่มปลูกพืชกินเองตามที่ตัวเองคิดว่าทำได้ โดยเฉพาะพืชพื้นเมืองต่าง ๆ และอนุรักษ์พืชเหล่านี้ไว้ เพื่อให้เกิดความหลากหลายในเชิงของอาหารและระบบการผลิตอาหาร”
นายอนุพงษ์ จะฟะ คริสตจักรเยาวราษฎร์
“หลังจากนี้ผมจะกลับไปใช้พื้นที่บ้านของตัวเองให้เป็นประโยชน์ โดยการทำกสิกรรมธรรมชาติโดยการปลูกผักและขุดบ่อเลี้ยงปลา”
นางสาว ลีลาวดี อาณาอนันกิจ คริสตจักรแจ่มหลวง
“มาค่ายนี้ได้รับความรู้หลายอย่างมากเลยค่ะ เกี่ยวกับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตระหนักถึงความสำคัญของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และได้เรียนรู้การทำปุ๋ยหมัก เครื่องกรองน้ำ การทำถ่าน และอีกหลายๆอย่างเลยค่ะ”
นาย กฤษฏา ทองปา คริสตจักรที่ 1 ฝาง
“รู้สึกดีใจที่ได้มาที่นี่ ได้รับความรู้จากวิทยากร อยากให้คนทั้งโลกเห็นความสำคัญของอาหารและน้ำ และดูแลรักษาน้ำ”
อ.บุญศักดิ์ ทองดี วิทยากร –นักพัฒนากสิกรรมธรรมชาติและผู้ร่วมก่อตั้งบ้านในสวน กล่าวถึงหน้าที่ของผู้ใหญ่ที่ต้องช่วยกันว่า
“เยาวชนเป็นอนาคตของโลกใบนี้ ถ้าเยาวชนสามารถที่จะบริหารจัดการได้เกี่ยวกับอาหาร น้ำ สิ่งแวดล้อม ก็จะเป็นความยั่งยืนของโลกใบนี้ได้ หน้าที่อันหนึ่งของผู้ใหญ่ในวันนี้จะต้องช่วยเยาวชนให้มีความตระหนักและความเข้าใจที่จะบริหารจัดการอาหาร น้ำและสิ่งแวดล้อม”
ที่ผ่านมา เยาวชนที่เข้าร่วมในโครงการพัฒนาเด็กและเยาวชนของมูลนิธิดรุณาทรซึ่งอาศัยอยู่ในหลายพื้นที่ เป็นจิตอาสาเข้าร่วมกิจกรรมอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมร่วมกับผู้นำคริสตจักรและผู้นำชุมชนเพื่อตอบสนองปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่ของตน ได้แก่ การสร้างแนวกันไฟป่า การปลูกต้นไม้ทดแทน สร้างฝายชะลอน้ำ การอนุรักษ์ต้นน้ำ การอนุรักษ์สัตว์น้ำ การเก็บและคัดแยกขยะ ดังนั้นแคมเปญ Youth and Creation Care ในปีนี้จึงเพิ่มเติมประเด็นความมั่นคงทางอาหารและน้ำ เพื่อส่งเสริมให้เยาวชนเรียนรู้ที่จะเตรียมความพร้อมรับมือกับสถานการณ์วิกฤตสิ่งแวดล้อมโลก โดยสามารถสร้างแหล่งอาหารในครัวเรือนไปพร้อมกับการดูแลอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ดิน น้ำ ป่า ให้มีความสมบูรณ์มากขึ้นและยั่งยืนต่อไป
ลิงค์ข่าวกิจกรรม Youth and Creation Care https://www.youtube.com/watch?v=-6JKVxmVpKc
ติดตามข่าวสารกิจกรรมต่าง ๆ ของมูลนิธิดรุณาทรได้ที่
เว็บไซต์ www.compassionth.com
YouTube มูลนิธิดรุณาทร Compassion Thailand
Line Official @compassionth
IG: Compassion Thailand
TAGS Businesscaseมูลนิธิดรุณาทร